บทความนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อต่อยอดบทความก่อนหน้า (การตั้งค่า PowerPoint ให้เปลี่ยน Slide เรื่อยๆและวนรอบใหม่โดยอัตโนมัติเมื่อจบ Slide สุดท้าย) บางคนอาจสงสัยว่า เนื้อหาตรงนี้มันเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงอย่างไรได้บ้าง? ผมอยากตอบว่า หลักๆก็คงจะเป็นการทำ Presentation ที่ให้วนไปเรื่อยๆครับ ...ฟังดูอาจเหมือนกวนๆนะ แต่ความจริงมันเป็นแบบนั้นจริงๆครับ เราใช้แสดงข้อมูลอะไรที่มีวน loop เรื่อยๆ เช่น...
- ขั้นตอนการปฎิบัติงานที่มีลำดับชัดเจนและไม่ซับซ้อนไป (เช่นขั้นตอนการลงทะเบียนอะไรบางอย่าง 3 ขั้นตอน ก็ทำ 3 Slide อะไรแบบนี้ ให้คนได้รับทราบ)
- ข้อมูลประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ระหว่างคนนั่งรอคิวรับบริการได้ดูพลางๆ (โปรโมชั่นเด็ด สินค้าลดราคา ฯลฯ)
- และที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุดก็คือ ใช้ตามบูธขายของที่มีคนเดินผ่านไปผ่านมา ทำเอาไว้เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลหลักๆที่อยากให้คนที่เดินผ่านไปมาได้รับรู้ และอาจเหมาะกับคนที่อยากรู้ข้อมูลแต่ไม่กล้าถามพนักงาน (เพราะคุยกับพนักงานเดี๋ยวจะยาวหรือกลัวโดนขายของอารมณ์นั้น)
ที่มาภาพ: http://img.ryt9.net/www/420x900s/files/20110204/iqe90362623844b4655538626fb77789fc.jpg
ข้อดีก็คือ มันง่าย เร็ว และแก้ไขได้ทันทีหากเจอที่ผิด แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่ว่ามันไม่สามารถทำผลงานอลังการงานสร้างแบบโปรแกรมตัดต่อวิดีโอระดับมืออาชีพ หรือถ้าจะทำต้องมีประสบการณ์และเวลาพอควรอยู่ ผมว่าขึ้นอยู่กับโอกาสและความเหมาะสมแหละครับ ว่างานไหนคุ้มแก่การใช้ PowerPoint ทำหรืองานไหนควรลงทุนทำคลิปวิดีโอ แต่ถ้าเอาพื้นฐานง่ายๆ ใครๆก็ทำได้ ผมว่าโปรแกรม PowerPoint เนี่ยแหละ ตอบโจทย์เราได้ดีเลยทีเดียว
ลองมาตัวอย่างกัน
ผมลองสมมติบริษัทแห่งหนึ่งขึ้นมาครับ ชื่อบริษัท รักผ้าไหมไทยจังเลย จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตผ้าไหมไทย จะไปออกบูธขายผ้าไหมที่งานแห่งหนึ่ง และต้องการจะทำ PowerPoint นำเสนอสินค้าแบบวนชุดหนึ่ง
ก่อนที่จะชมผลงาน ผมมีเรื่องสำคัญมากๆอยากจะบอกทุกครับ :)
การออกแบบ PowerPoint เหมือนการออกแบบงานศิลปะชิ้นหนึ่งแหละครับ ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด แต่อาจมีแรงบันดาลใจหรือเหตุผลอะไรมาสนับสนุนมากกว่า อาจมีคนอื่นๆไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของตนเอง แต่ว่าเราสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันได้ เปิดใจรับความเห็นซึ่งกันและกันครับ :D
เมื่อเข้าใจแล้ว เรามาดูต่อเลยครับ :)
การใช้พื้นหลัง
- เลือกใช้สีสดใส (สีเขียว) ซึ่งให้ความรู้สึกสดใส และเป็นสีที่คุ้นตาในชีวิตประจำวัน เช่นต้นไม้ใบหญ้า
- เลือกใช้ลายแบบไทยๆ สื่อถึงความเป็นไทย ผ้าไทย
- (ถึงตรงนี้ ถ้าถามว่า เราจะใช้สีอื่นได้ไหม คำตอบคือได้ครับ ขึ้นอยู่กับคนออกแบบเลย อาจใช้พื้นหลังเป็นสีดำลายกนกก็ย่อมได้ สื่อถึงความนิ่งเงียบสงบและความเป็นไทยได้ หรือใช้สีโทนเรียบๆไม่มีลายเลยก็ยังได้ครับ ย้ำอีกทีหนึ่งว่าขึ้นอยู่กับแนวคิดคนออกแบบแต่ละคนมากกว่า)
การใช้แบบอักษร
- แบบอักษรเน้นอ่านง่าย ทางการ (เพราะสินค้าคือผ้าไหมไทย ไม่ควรจะใช้แบบอักษรที่ดูตลกหรือวัยรุ่นไป จะดูไม่น่าเชื่อถือ และนอกจากนั้นแล้ว คนที่เดินผ่านแล้วหันมามองดูจะสามารถกวาดสายตาอ่านได้อย่างรวดเร็วด้วย)
- ขนาดอักษรใหญ่กำลังพอดี พอให้คนที่เดินผ่านไปมาได้เห็นและพออ่านออกได้
การจัดการเนื้อหา
- ใช้จำนวน Slide ไม่มากเกินไป เพราะเราจะสื่อแค่เนื้อหาหลักๆเน้นๆ (รายละเอียดปลีกย่อยให้ถามพนักงานเพิ่มเติม) และสำหรับคนที่แวะมาอ่านที่ Presentation จะได้ใช้เวลาไม่นานนัก ไม่รู้สึกเบื่อไปก่อน และไม่ทรมานและกินเวลาผู้อ่านเกินไป
- (ตรงนี้ก็แล้วแต่มุมมองคนออกแบบ Presentation อีก บางคนมองกลับกันว่า "เราน่าจะทำSlideเยอะๆ" เพื่อใช้แสดงสินค้าที่หลากหลาย และดึงดูดคนให้ยืนหน้าบูธเพื่ออ่านนานๆเยอะๆ บูธจะได้คึกคัก มุมหนึ่งสามารถมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะแสดงให้เห็นถึงสินค้าที่หลากหลาย อีกมุมหนึ่งสามารถมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะทำ Slide เยอะๆ แล้วหากผู้อ่านที่ตั้งใจยืนอ่านตั้งใจอ่าน จะเป็นการทรมานผู้อ่าน และหากต้องการให้ผู้อ่านชมสินค้าทั้งหมดของเรา แทนที่จะเอาขึ้น Presenation ทั้งหมด เราน่าจะชวนเข้าบูธเราเพื่อชมของจริงแทนมากกว่า)
- ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการทำ และมุมมองของแต่ละคนมากกว่าครับ
- นำเสนอเนื้อหาสำคัญเท่าที่ทำเป็นเช่น ชื่อบริษัท ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัท (เราคงไม่ลงประวัติก่อตั้งทุกอย่าง รายชื่อCEOแต่ละยุค แผนกต่างๆในองค์กร ซึ่งมันลึกเกินไปและคนเยี่ยมชมบูธไม่จำเป็นต้องรู้) สินค้าเด่นๆ (กรณีที่เรามีสินค้ามากๆ เราคงลงสินค้าทุกตัวที่มีไม่ไหว) การติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม เป็นต้น
-------------------------------------------------------------------------------------------
** เนื่องจากบทความนี้ยาวพอสมควร จึงขออนุญาตตัดบทความที่เหลือเป็นอีกชุดหนึ่ง เข้าไปอ่านต่อที่
แนวคิดการทำ Presentation นำเสนอแบบวนเรื่อยๆ สำหรับการออกงาน ออกบูธ (ตอนที่2 - จบ)
ได้เลยครับ **
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น