วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2561

หัวใจหลัก 3 ประการ ในการใช้แบบอักษรในงานเรา


สวัสดีครับ วันนี้ผมอยากนำเสนอเรื่องที่เป็นองค์ประกอบสำคัญมากๆของการทำสื่อนำเสนออย่างหนึ่งนั่นคือ แบบอักษร (Font/Typeface) นั่นเอง ซึ่งผมขอแนะนำ 3 หัวใจหลักที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกแบบอักษร เพื่อให้งานของเราดูมืออาชีพโดยไม่ยาก มีอะไรบ้าง ติดตามดูได้เลยครับ :)


1. แบบอักษรมีความรู้สึก

เรื่องนี้เป็นหัวใจหลักในการเลือกแบบอักษรอย่างหนึ่ง เพราะเราต้องดูว่าเราจะนำเสนออะไร หากนำเสนองานที่เป็นทางการ แต่ใช้แบบอักษรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ก็คงจะให้ความรู้สึกดูเล่นเกินไปไม่เหมาะกับงานทางการ   หากเรานำเสนอผลงานที่เกี่ยวของกับความเป็นไทย การใช้แบบอักษรที่ดูมีความเป็นไทยขึ้น จะช่วยให้งานเรามีเอกลักษณ์ได้ หรือหากเรานำเสนอแบบไม่ทางการหรือเครียดเกินไป การใช้แบบอักษรที่ดูไม่ซีเรียสก็จะทำให้งานเราดูซอฟต์ สบายขึ้นได้


2. กรณีข้อความเยอะๆ แบบอักษรที่มีหัว อ่านง่ายแบบกว่าไม่มีหัว

โดยทั่วไปแล้ว อักษรที่มีหัว เป็นระเบียบ จะอ่านง่ายกว่า อักษรที่ไม่มีหัว เขียนเอียง มีลูกเล่นต่างๆ   ดังนั้นในส่วนข้อความยาวๆ หรือเนื้อหาของเรา ควรพิจารณาใช้แบบอักษรที่ มีหัวอ่านง่ายมากกว่า

ตัวอย่างในภาพ ทางด้านซ้ายเป็นอักษรที่มีหัว  ด้านขวาเป็นอักษรที่ไม่มีหัว  หากเขียนข้อความยาวๆ เยอะๆ ด้านไหนอ่านง่ายกว่าเอ่ย? :)



หากพิจารณาทั้ง 2 ด้าน จะพบว่า ยิ่งตัวอักษรมีลูกเล่นมากเท่าไหร่ จะอ่านยากขึ้นมากเท่านั้นเมื่อใช้กับข้อความยาวๆ  ทางด้านบนมีลูกเล่นมากกว่าทางด้านล่าง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในปัจจุบันมีแบบอักษรมากมาย บางแบบอักษรไม่มีหัวแต่อยู่กับข้อความเยอะๆก็ยังพออ่านได้อยู่ ดังนั้นขอให้ใช้หลักการนี้ภายใต้ความเหมาะสมของหน้างานเราอีกทีหนึ่งครับ


3. ใช้แบบอักษร 2 แบบก็พอ

เพราะความเรียบง่ายส่งให้งานของเราทรงพลัง  หากเราใส่แบบอักษรเยอะๆในงานเราจนเกินไป งานของเราจะดู “เยอะ” และคนจะโฟกัสที่ตัวแบบอักษรที่เราใช้ มากกว่า เนื้อหาที่เราต้องการจะสื่อสารออกไป

แบบอักษร 2 แบบที่ว่าคือ
- ส่วนหัวข้อ (Title/Head) ส่วนนี้เป็นส่วนที่บอกกับผู้ฟังว่า สไลด์/หัวข้อที่เราจะพูดต่อไปคืออะไร สามารถใช้แบบอักษรที่ไม่มีหัว มีน้ำหนัก มีพลัง
- ส่วนเนื้อหา (Body) ส่วนนี้เป็นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อข้างต้น ควรใช้แบบอักษรที่ไม่มีลูกเล่นมากจนเกินไป อ่านได้ง่าย ไม่มึนเมื่ออ่านไปนานๆ

ในกรณีที่เราอยากเน้นข้อความเฉพาะจุดภายในย่อหน้าหนึ่ง ให้ใช้วิธีเปลี่ยนสีอักษรให้แตกต่างจากเดิม เช่นเน้นสีแดง หรือขีดเส้นใต้แทน อย่าเปลี่ยนแบบอักษรระหว่างข้อความในย่อหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น